เปิด 5 แผนรับมือผลเลือกตั้งสหรัฐฯ หวั่น “ ทรัมป์” ชนะอาจกระทบเศรษฐกิจโลก

14 กรกฎาคม 2567
เปิด 5 แผนรับมือผลเลือกตั้งสหรัฐฯ หวั่น “ ทรัมป์” ชนะอาจกระทบเศรษฐกิจโลก

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) แนะจับตาผลเลือกตั้งสหรัฐฯคนใหม่ หวั่น โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งอาจะส่งผลกระทบเศรษฐกิจกิจโลก - ไทย แนะผู้ประกอบการเตรียม 5 แผนรับมือ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่เป็นเรื่องที่น่าจับตา เพราะจะบ่งชี้ถึงทิศทางภูมิทัศน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจโลกเพราะสหรัฐฯเป็นประเทศมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร และเทคโนโลยี ในด้านการเมืองสหรัฐฯ นับเป็นผู้นำประเทศโลกเสรีที่กุมทิศทางการเมืองโลกและด้านเศรษฐกิจ สหรัฐฯ มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มูลค่า 27.36 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2566 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.95 ของ GDPโลก และมีรายได้ต่อหัวสูงถึง 81,695.2 ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ สหรัฐฯยังเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 และเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย (รองจากจีน) รวมถึงยังเป็นประเทศที่มียอดคงค้างเงินลงทุนโดยตรงในไทยเป็นอันดับ 5 (รองจาก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และเนเธอร์แลนด์) การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ส่งผลต่อเศรษฐกิจการค้าโลกอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่ง

ในช่วง 7 - 8 ปีผ่านมา ในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ จากการใช้ “นโยบายสหรัฐอเมริกาต้องมาก่อน” (American First Policy) ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นชาตินิยม การคงไว้ซึ่งการเป็นมหาอำนาจ การปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ และการสร้างความมั่นคงของชาติ และการเริ่มทำสงครามการค้ากับจีน ที่ทำให้เศรษฐกิจการค้าโลกและไทยชะลอตัว หดตัวอย่างชัดเจน

และในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโจไบเดน ที่มีการทำสงครามเทคโนโลยีกับจีน รวมถึงการออกพระราชบัญญัติชิปและวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ และพระราชบัญญัติการลดเงินเฟ้อ เพื่อจัดการปัญหาเงินเฟ้อและประเด็นภาวะโลกร้อนสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้ายังมีความพยายามที่จะย้ายฐานการผลิตกลับสู่ประเทศตนเอง และย้ายฐานการผลิตเข้าใกล้ตลาด รวมถึงย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศพันธมิตรในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของห่วงโซ่อุปทานและเศรษฐกิจโลก

ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากกระแสการเคลื่อนย้ายทางการค้าและการลงทุนของโลกที่เร่งตัวขึ้นทิศทางการค้าหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ คาดว่าจะเป็นการแข่งขันระหว่างไบเดนจากพรรคเดโมเครต กับทรัมป์จากพรรครีพับลิกัน

นายพูนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากนายโจไบเดน ชนะการเลือกตั้ง การดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศจะเป็นไปในทิศทางเดิม แต่หากนายโดนัลด์ ทรัมป์ชนะ อาจเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ 2 มิติซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง ได้แก่ ด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยจะลดการให้ความช่วยเหลือประเทศที่อยู่ในพื้นที่ขัดแย้ง โดยเฉพาะการยกเลิกหรือลดการสนับสนุนยูเครน ซึ่งจะส่งผลให้สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน สิ้นสุดในไม่ช้า แต่ในขณะเดียวกัน การลดบทบาทของสหรัฐฯ ในการสนับสนุนความมั่นคงในเวทีโลกโดยเฉพาะ NATO อาจทำให้มีความขัดแย้งในพื้นที่อื่น ๆ ปะทุได้ง่ายขึ้น ซึ่งวันนี้แทบปฏิเสธไม่ได้ว่าความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้านเศรษฐกิจ การใช้มาตรการปกป้องทางการค้าของสหรัฐฯ จะเข้มข้นขึ้นรวมถึงสงครามการค้ากับจีนจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยจะมีการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าทุกประเภทจากทุกประเทศร้อยละ 10 และจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนร้อยละ 60 ทั้งนี้ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ไบเดน ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจากจีนเฉพาะสินค้าที่ถูกพิจารณาว่ามีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ อาทิ

  • รถยนต์ไฟฟ้า
  • แบตเตอรี่
  • เซมิคอนดักเตอร์
  • โซลาร์เซลล์
  • เหล็กและอะลูมิเนียม
  • แร่ธาตุ

การกลับมาของทรัมป์ที่น่าจะมาพร้อมกับนโยบาย American First อาจทำให้เกิดความเสี่ยงทาง เศรษฐกิจและการค้าโลกจะมีความยากลำบากมากขึ้น ด้วยการตั้งกำแพงภาษี สกัดสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมและสร้างงานในประเทศ ซึ่งจะทำให้ประเทศต่าง ๆ ที่เคยได้รับประโยชน์จากการลงทุนของสหรัฐฯ และบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เผชิญการถอนการลงทุนออก โดยเฉพาะบริษัทในสาขาอุตสาหกรรมที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญที่ปัจจุบันยังตั้งอยู่ในจีน และบริษัทที่ได้ขยาย/ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมาที่ภูมิภาคอาเซียน อาทิ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ก่อนหน้านี้ อาจมีบางส่วนย้ายกลับสหรัฐฯ หรือประเทศในภูมิภาคอเมริกาเหนือ เพื่อลดความเสี่ยงทางการค้าแผนนโยบายที่ต้องเตรียมรับมือผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ

จากโพลล์ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ความนิยมของผู้ลงสมัครเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากทั้งสองพรรค ค่อนข้างมีคะแนนที่ใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ดี หากทรัมป์ชนะอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการค้าของสหรัฐฯ ที่ส่งผลต่อการค้าโลก ดังนั้นไทยจึงควรเตรียมพร้อมวางแผนตั้งรับผลการเลือกตั้งครั้งนี้คือ

1. ติดตามสถานการณ์การเลือกตั้งและ นโยบายทางเศรษฐกิจ รวมถึงนโยบายการต่างประเทศ ที่ผู้แทนจากทั้งสองพรรคประกาศในช่วงหาเสียงอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะนโยบายหรือมาตรการที่อาจส่งผลกระทบต่อการค้า การลงทุน และห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมไทย เพื่อปรับตัว/รับมือกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น

2. ดำเนินมาตรการปกป้องทางการค้าอย่างเหมาะสม กรณีเกิดการใช้มาตรการปกป้องทางการค้าที่เข้มข้นขึ้นจากประเทศผู้นำเข้าอันดับ 1 ของโลกอย่างสหรัฐฯ อาจทำให้ปริมาณสินค้าบางส่วนไหลเข้าสู่ตลาดโลก รวมถึงไทย นอกจากนี้ อาจส่งผลให้หลายประเทศ

โดยเฉพาะชาติตะวันตกใช้มาตรการปกป้องทางการค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งไทยอาจจำเป็นต้องดำเนินมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมสำคัญภายในประเทศในกรณีที่มีสินค้าราคาถูกไหลทะลักเข้ามาในประเทศอย่างเหมาะสม

3. ส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งด้านการลงทุน การผลิต และการค้า รวมถึงเร่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเร่งดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา เร่งพัฒนาแรงงานฝีมือ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ปรับปรุงและพัฒนากฎ ระเบียบและข้อบังคับในการทำธุรกิจ รวมถึงอำนวยความสะดวกทางการค้า ตลอดจนเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีเพื่อสร้างแต้มต่อทางการค้าและการลงทุน

4.กระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือกับพันธมิตรทางการค้า เพื่อรักษาสมดุลระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มการแยกส่วนทางเศรษฐกิจ โดยการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งระดับรัฐบาล สถาบันวิจัย และองค์กรธุรกิจ

ในการต่อยอดองค์ความรู้และพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี และการผลิตของไทย รวมถึงส่งเสริมการสร้างพันธมิตรทางการค้าที่แข็งแกร่งเพื่อขยายการค้าและการลงทุน

5. มุ่งเน้นดูแลเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ อาทิ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราเงินเฟ้อ และการจ้างงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.